ขณะที่เขียนไล่ไปทีละสถานที่และกะจะจบลงภายในบทความเดียว แต่ผมก็รู้สึกว่ายิ่งเขียนยิ่งยาว ยิ่งเขียนยิ่งรู้สึกว่าทวีปของเรามีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญและมีชื่อเสียงเยอะมาก จนผมหาทางออกจากแผ่นดินอาหรับไม่เจอซะที ครั้นจะเขียนแค่สองสามแห่งก็ตะขิดตะขวงใจ ผมเลยตัดออกมาเป็นภาคซะเลยจะดีกว่า เพราะทวีปของเรามันช่างยิ่งใหญ่อลังการเกินกว่าจะเขียนให้จบได้ในบทความเดียวจริงๆ
สุเหร่าโซเฟีย นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี
ปัจจุบันนี้ สุเหร่าโซเฟียไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจแล้ว เพราะเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์แทน ชื่อในภาษาตุรกีออกเสียงว่า อายาโซเฟีย (Ayasofya) โดยคำว่า อายา แปลว่า โบสถ์,สุเหร่า ส่วนคำว่า โซเฟีย แปลว่า ปัญญา รวมกันจึงหมายความว่า สุเหร่า(โบสถ์)แห่งปัญญา
สุเหร่าโซเฟียเป็นสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์ มีจุดเด่นอยู่ตรงยอดโดมขนาดใหญ่ ในอดีตเมื่อครั้งแรกสร้างเคยเป็นโบสถ์ในคริสศาสนานิกายออร์โธดอกซ์มาก่อน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1075 ในรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ บนพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นที่ตั้งโบสถ์มาก่อนถึง 2 หลัง แต่ได้พังทลายลงไปเนื่องจากการจราจล และเพลิงไหม้ตามลำดับ
ได้รับการออกแบบโดยนักฟิสิกส์ชื่อ อิสิโดโรสแห่งมิเลตุส และนักคณิตศาสตร์ชื่อ แอนเทมิอุสแห่งทราเรส สำหรับวัสดุในการก่อสร้างนำมาจากทั่วจักรวรรดิ อาทิ เสาแบบเฮเลนิสติกจากวิหารอาร์ทีมิส หินเนื้อดอกจากอิยิปต์ หินอ่อนเขียวจากแคว้นเทสซาลี หินสีดำจากบอสฟอรัส หินเหลืองจากซีเรีย และใช้แรงงานในการก่อสร้างกว่า 10,000 คน การก่อสร้างใช้เวลาเพียง 5 ปีก็แล้วเสร็จ มีการเปิดโบสถ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.1080
หลังจากนั้นโบสถ์แห่งนี้ก็ต้องประสบกับแผ่นดินไหว และเพลิงไหม้อยู่เสมอๆ แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอเช่นกัน จนกระทั่งจักรวรรดิออตโตมันพิชิตจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ในปี พ.ศ.1996 สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 จึงดัดแปลงโบสถ์ให้กลายเป็นสุเหร่า โดยย้ายสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ออกไป และแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ของอิสลาม สุเหร่าโซเฟียเป็นสุเหร่าหลักของอิสตันบูลมากว่า 500 ปีจน จนใน พ.ศ.2478 สุเหร่าโซเฟียก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์โดยสาธารณรัฐตุรกีจนถึงปัจจุบัน
เนินพระวิหาร กรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล
เนินพระวิหาร หรือ Temple Mount ในภาษาอังกฤษ หรือ הַר הַבַּיִת (ฮาร์ฮาไบธ์) ในภาษาฮิบรู หรือ الحرم الشريف (อัลฮารัม อัชชารีฟ) ในภาษาอาหรับ เหตุที่ต้องสาธยายชื่อในภาษาต่างๆซะยืดยาว เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักสิทธิ์ของ 3 ศาสนา คือ ศาสนายูดาห์ ศาสนาคริส และศาสนาอิสลาม ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าของนครอันศักสิทธิ์ นั่นคือกรุงเยรูซาเล็ม เนินแห่งนี้เป็นเนินที่ชาวยิวสร้างขึ้นเมื่อเกือบ 3 พันปีมาแล้ว เพื่อเป็นสถานที่ศักสิทธิ์ทางศาสนา โดยสร้างวิหารขึ้นบนเนินนี้ 2 หลัง แต่พังทลายไปหมดสิ้นแล้ว และใสสมัยต่อมาก็มีการสร้างศาสนสถานของแต่ละศาสนาบนเนินนี้ตามแต่ว่าผู้นำในขณะนั้นจะนับถือศาสนาอะไร นอกจากนี้ยังมีการก่อกำแพงล้อมรอบเนินนี้เพื่อป้องกันข้าศึกอีกด้วย ปัจจุบันมีสถาปัตยกรรมสถานสำคัญดังนี้
โดมทองแห่งเยรูซาเล็ม (Dome of the Rock) เป็นศาสนสถานสำคัญของศาสนาอิสลาม ตั้งอยู่ตอนกลางของเนินพระวิหาร ด้านในเก็บรักษาหินศักสิทธิ์ซึ่งเป็นหินสำคัญของทั้ง 3 ศาสนา ตัวอาคารออกแบบโดยยาซิด อิบุน ซาลาม จากเยรูซาเลม และราชา อิบุน เฮย์วาห์จากเบย์ซาน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1228 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.1234 ในรัชสมัยของ กาหลิบอับด์ อัลมาลิค แห่งราชวงศ์อุมัยยะห์ โดยพระองค์ทรงปราถนาให้ที่นี่เป็น "สถานที่สำหรับพักพิงของมุสลิมทั้งยามหนาวและยามร้อน" และด้วยโดมสีทองนี้เอง ทำให้อาคารนี้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดบนเนินพระวิหาร นอกจากนี้แล้วอาคารแห่งนี้ยังถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในศาสนาอิสลามอีกด้วย
มัสยิดอัลอักซอ เป็นศาสนสถานสำคัญอันดับ 3 ของศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเนินพระวิหาร โดยมีโดมสีเงินซึ่งตัดกันกับโดมทองแห่งเยรูซาเล็มที่อยู่ถัดขึ้นไปอย่างเด่นชัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายหลังจากการสร้างกะอ์บะห์ 40 ปี ภายหลังได้มีการบูรณะครั้งใหญ่โดยกาหลิบอับด์ อัลมาลิค แห่งราชวงศ์อุมัยยะห์ แต่กว่าจะแล้วเสร็จก็ล่วงมาจนถึง พ.ศ.1248 ในรัชสมัยของกาหลิบอัลวะลีดที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสของกาหลิบอับด์ อัลมาลิค
ประตูทอง (Golden Gate) หรือที่เรียกกันว่า ประตูแห่งความเมตตา (Gate of Mercy) เป็นประตูที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาประตูทั้งหมดรอบกำแพงเมืองเก่าของเยรูซาเล็ม ตั้งอยู่ตอนกลางทางทิศตะวันออกของเนินพระวิหาร สันนิษฐานว่าอาจสร้างขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ.1070-1108) แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ (ใครที่เรียนกฎหมายต้องรู้จักพระองค์) แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2084 ประตูตูทองได้ถูกปิดตายโดยคำสั่งของสุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมัน
กำแพงตะวันตก (Western Wall) หรือกำแพงร้องไห้ (Wailing Wall) เป็นสักการะสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว โดยถือว่าเป็นพระธาตุของพระวิหารหลังสุดท้าย กำแพงนี้เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงที่กษัตริย์เฮโรดได้สร้างรอบๆ พระวิหารหลังที่สองที่อยู่บนเนินพระวิหาร ในปีที่ 20 ก่อนคริสตกาล ปัจจุบันจะมีชาวยิวมาสักการะ เพื่อแสดงความทุกข์ทนขมขื่นต่อการกระจัดกระจายของชาวยิว และร่ำไห้เหนือซากของพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า "กำแพงร้องไห้"
นครหินเปตรา อำเภอเปตรา จังหวัดมะอาน ประเทศจอร์แดน
เป็นเมืองที่น่าทึ่งและวิจิตรงดลามเป็นอย่างมาก เพราะเกิดจากการสร้างโดยเจาะสลัดเข้าไปในหน้าผาหินทราย ชื่อเปตรา มาจากภาษากรีก แปลว่า หิน ถ้าแปลตรงตัวก็จะได้ว่า เมืองหิน หรือนครหิน โดยตัวเมืองจะตั้งกระจายอยู่ในหุบเขามูซา หรือวาดีมูซา ซึ่งแปลว่าหุบเขาโมเสส (วาดี แปลว่า หุบเขา มูซา ก็คือ โมเสส นั่นเอง) เดิมเป็นเมืองท่าการค้าขนาดใหญ่ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับเปอร์เซีย สร้างขึ้นโดยชาวนาบาเทียนในช่วง 400 ปีก่อนคริสกาล ซึ่งได้สกัดผาหินทราย เพื่อเป็นบ้านเรือนและอาศัยอยู่ในถ้ำทีมีอยู่ทั่วเมือง โดยจะมีอาคารหลักอยู่หลายหลัง แต่ที่เด่นและติดตาคนทั่วโลกมากที่สุดก็คือ ท้องพระโรงกลางเมือง นอกจากสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆก็มี วิหารหลวง และทางน้ำชลประทานที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของชาวนาบาเทียน
มัสยิดอัลฮะรอม นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
มัสยิดอัลฮะรอม ถือว่าเป็นสถานที่สำคัญที่สุดของชาวมุสลิม และเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยขนาดพื้นที่ถึง 356,800 ตร.ม. ตัวมัสยิดสร้างล้อมรอบกะบะฮ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมทิศเวลาละหมาด และการเวียนรอบยามประกอบพิธีอุมเราะฮ์และพิธี ฮัจญ์ แต่เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวมักกะฮ์ ต่อมาในปี ฮ.ศ.4 (ประมาณ พ.ศ.1120) ท่านนบีมูฮัมมัดได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับละหมาด จนกระทั่งมาถึงสมัยของคอลีฟะฮ์อุมัรและอุษมานได้มีการสั่งรื้อถอนบ้านเรือน รอบๆออกไปและสร้างกำแพงล้อมรอบมัสยิด และในสมัยต่อๆมาได้ทีการสร้าง ขยาย ต่อเติมมัสยิดอยู่เสมอมา เช่น การปูพื้นหินอ่อนรอบลานกะบะฮ์ การสร้าหลังคาทางเดินสะแอ เป็นต้น โดยการบูรณะครั้งใหญ่คือการขยายมัสยิดให้กว้างขวางเพื่อรองรับชาวมุสลิมใน การเดินทางมาทำพิธีฮัจญ์ในสมัยของสุลต่านเซลิมที่ 1
จัตุรัสอิหม่าม เมืองอิสฟาฮาน ประเทศอิหร่าน
จัตุรัสอิหม่าม หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า จัตุรัสนักเชอจาฮาน (میدان نقش جهان) เป็นจัตุรัสกลางเมืองอิสฟาฮาน ในภาคกลางของประเทศอิหร่าน สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2141-2172 ในรัชสมัยของชาห์อับบาสที่ 1 (ชาห์ แปลว่า กษัตริย์) หรือพระเจ้าอับบาสมหาราช แห่งราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ ตัวจัตุรัสครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 81,280 ตร.ม. (กว้าง 160 ม. ยาว 508 ม.) ประกอบด้วยกลุ่มสถาปัตยกรรมต่างๆดังนี้
มัสยิดชีก-ลอตฟ์อัลเลาะฮ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจัตุรัส เป็นมัสยิดขนาดเล็ก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2146 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2161 ออกแบบโดยเชคบาฮา ปรัชญาเมธีคนสำคัญของโลกอาหรับ มัสยิดแห่งนี้จะใช้เป็นมัสยิดส่วนพระองค์และราชวงศ์เท่านั้น
ตัวโดมได้รับการตกแต่งด้วยโมเสคสีเหลืองและสีแดง
โดยเฉพาะผนังโดมภายในห้องโถงกลางมีความวิจิตรงดงามเป็นอย่างมาก
มัสยิดอิหม่าม หรือมัสยิดชาห์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจตุรัส สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2154 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2172 รวมเวลาก่อสร้าง 18 ปี ออกแบบโดยเชคบาฮา ตัวมัสยิดเป็นสถาปัตยกรรมแบบเปอร์เซีย
เสามินาเรตประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบตลอดทั้งต้น และได้จารึกอัลกุรอานลงไปบนเสาด้วย ปัจจุบันมัสยิดอิหม่ามถูกยกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดสถาปัตยกรรมแบบเปอร์เซีย
พระราชวังอาลีกาปู ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจัตุรัส พระราชวังแห่งนี้เดิมคือ พระราชวังหลวงเมื่อครั้งอิสฟาฮานเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิซาฟาวิยะห์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2140 เพื่อใช้ที่ประทับส่วนพระองค์ และต้อนรับทูตานุทูต ตัวพระราชวังมี 6 ชั้น แต่ละชั้นตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรม ภาพเขียนสี และปูนปลาสเตอร์ โดยชั้นที่สี่คือจุดที่โดดเด่นที่สุด เพราะเป็นระเบียงพลับพลาขนาดใหญ่ สำหรับประทับเพื่อทอดพระเนตรกีฬา หรืองานเทศกาล
ตลาดอิสฟาฮาน หรือบาซาร์อิสฟาฮาน (สมัยสุโขทัยรับเอาคำว่าบาซาร์นี้มาใช้เป็น ตลาดปสาน) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจัตุรัส เป็นหนึ่งในตลาดที่เก่าแก่ที่สุดในแถบตะวันออกกลาง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยของชาห์อับบาสที่ 1 เพื่อใช้สำหรับเป็นศูนย์กลางทางการค้าของจักรวรรดิ แม้เวลาจะล่วงมาเกือบครึ่งสหัสวรรษแล้วแต่ตลาดแห่งนี้ก็ยังคงมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของกันอยู่
เมืองโบราณเพอร์ซีโพลิส อำเภอมาร์เวอดาสต์ จังหวัดฟาร์ส ประเทศอิหร่าน
สันนิษฐานว่าเมืองนี้มีมาก่อนจักรวรรดิอะคีเมนิยะห์ ซึ่งเป็นจักรวรรดิแรกของเปอร์เซีย ต่อมาในสมัยจักรพรรดิไซรุสมหาราช (ครองราชย์ 559-530 ปีก่อนคริสตกาล) ผู้ทรงก่อตั้งจักรวรรดิอะคีเมนิยะห์ พระองค์ได้สร้างเมืองนี้ให้เป็นเมืองหลวงทางรัฐพิธี มีฐานะเทียบเท่ากับกรุงปาร์ซากาเดที่เป็นเมืองหลวงทางการปกครองของจักรวรรดิ และในสมัยของจักรพรรดิองค์ต่อมาก็มีการต่อเติมเพิ่มอาคารและพระราชวัง ตลอดจนสถาปัตยกรรมต่างๆอีกมากมาย นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่ฝังพระศพจักรพรรดิอีก 3 พระองค์อีกด้วย ถึงแม้จะมีการส้รางเมืองหลวงอีกหลายครั้งก็ตาม แต่เพอร์ซีโพลิสก็ยังคงเป็นเมืองที่ใช้ประกอบพระราชพิธีของจักรพรรดิตราบจนสิ้นสุดจักรวรรดิอะคีเมนิยะห์
แต่เดิมในสมัยของจักรวรรดิอะคีเมนิยะห์ ชื่อของเมืองนี้คือ ทาคต์เออยามชิด (Takht-e Jamshid) ที่แปลว่า บัลลังย์ของยามชิด (ยามชิดเป็นเทพในตำนานของศาสนาโซโรอัสเตอร์) ต่อมาภายหลังชาวเปอร์เซียนิยมเรียกเมืองนี้ว่า ปาร์ซา และเมื่อกรีกได้ครอบครองดินแดนแถบนี้ก็รับเอาคำว่าปาร์ซานี้ไป และเรียกเสียใหม่ว่า เพอร์ซีโพลิส (Persepolis) ซึ่งทั้งปาร์ซา และเพอร์ซีโพลิสนั้นแปลว่า เมืองของชาวเปอร์เซีย
ที่ตั้งของเมืองนั้นอยู่ริมเชิงเขาราห์เมต์ (Kuh-e Rahmet) โดยด้านหลังของเมืองจะติดกับภูเขา และหันหน้าเมืองออกจากภูเขา โดยในรัชสมัยของพระเจ้าดาริอุสมหาราช (ครองราชย์ 552-486 ปีก่อนคริสตกาล) ได้มีการสร้างพระราชวังและขยายเมืองเข้าไปยังตัวภูเขาด้านหลังโดยการเจาะสกัดเข้าไป แต่กว่าจะแล้วเสร็จก็ล่วงไปจนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิเซอร์ซีสมหาราช (ครองราชย์ 486-465 ปีก่อนคริสตกาล) ทำให้ขนาดพื้นที่ตัวเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 125,000 ตร.ม. โดยสิ่งก่อสร้างสำคัญที่เพิ่มมาในคร้งนี้คือ พระราชวังอะปาดานา และอาคารรัฐสภา หรือ พระที่นั่งร้อยเสา (Tripylon)
เบิร์จคอลิฟะ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เบิร์จคอลิฟะ หรือ หอคอยคอลิฟะ (برج เบิร์จ แปลว่า หอคอย) เดิมชื่อว่า เบิร์จดูไบ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2547 เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553 ออกแบบโดย เอเดรียน สมิธ จากบริษัทสคิดมอร์โอวิงส์แอนด์เมอร์ริลล์ (SOM) มีจำนวนชั้นใช้งานทั้งหมด 163 ชั้น ความสูงจากฐานถึงชั้นบนสุด 321.3 เมตร และมีความสูงจากฐานถึงยอด 828 เมตร ทำให้เป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกในขณะนี้ การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในตึกจะแบ่งเป็นหลายส่วน โดยตั้งแต่ชั้นแรกถึงชั้นที่ 39 จะเป็นพื้นที่ของโรงแรมอาร์มานี ชั้น 44-108 จะใช้เป็นอพาร์ตเมนต์ ชั้นที่เหลือจะเป็นสำนักงานและอื่นๆ โดยจะมีชั้นสำหรับชมวิวอยู่ที่ 123 กับ 124 นอกจากนี้บนชั้น 78 ยังมีสระว่ายน้ำกลางแจ้งขนาดใหญ่อีกด้วย สุดท้ายส่วนยอดของตึกจะเป็นที่ติดตั้งเสาส่งสัญญาณการสื่อสาร
กลุ่มเกาะต้นปล์าม นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เป็นโครงการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะประดิษฐ์ขึ้นริมฝั่งทะเลของดูไบ มีเกาะในโครงการทั้งหมด 3 เกาะ ได้แก่ ปาล์มจูไมราห์, ปาล์มเจเบลอาลี และปาล์มเดียรา ลักษณะของแต่ละเกาะจะคล้ายคลึงกันคือ เป็นรูปร่างคล้ายต้นปาล์มหากมองลงมาจากท้องฟ้า จุดประสงค์หลักคือการสร้างที่พักอาศัย รีสอร์ท โรงแรม และเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
โครงการนี้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยการริเริ่มของ เชคโมฮัมเหม็ด บินราชิต อัลมาคทูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว 2 เกาะ คือเกาะปาล์มจูไมราห์ที่มีขนาด 25 ตร.กม., และเกาะปาล์มเจเบลอาลีที่มีขนาด 37.5 ตร.กม. แต่เกาะปาล์มเจเบลอาลียังไม่ได้เปิดใช้งานเต็มที่ ขณะที่เกาะปาล์มเดียราที่มีผังขนาดใหญ่ที่สุดในโครงการนี้ซึ่งจะใหญ่กว่าเกาะปาล์มจูไมราห์ 8 เท่า และใหญ่กว่าเกาะปาล์มเจเบลอาลี 5 เท่า เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2547 แต่การก่อสร้างต้องขะงักเนื่องจากวิกฤติเศรษกิจของดูไบระหว่าง พ.ศ.2550-2553 ปัจจุบันยังคงเหลือการก่อสร้างและตกแต่งสถานที่อีกเพียงเล็กน้อย คาดว่าน่าจะพร้อมเปิดใช้งานอย่างสมบูรณ์ประมาณ พ.ศ.2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น