ชมพูทวีป (Jambul Dwipa) หมายถึงดินแดนอินเดียโบราณ และในปัจจุบัน (และตัวผมเอง) หมายถึง ดินแดนของประเทศในเอเชียใต้หรืออนุทวีปอินเดีย
มีอยู่ 3 ศาสนาที่กล่าวถึงชมพูทวีป คือ ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู และศาสนาเชน ซึ่งทั้ง 3 ศาสนาเกิดขึ้นในอินเดียทั้งสิ้น ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครใช้คำว่าชมพูทวีปแล้ว คนไทยส่วนมากจะหันไปใช้คำว่าเอเชียใต้ ที่แปลมาจาก South Asia อีกทอดนึงกันเสียมากกว่า
ในพระไตรปิฏกอธิบายว่า ชมพูทวีป คือ 1 ใน 4 ดินแดนของมนุษย์(มนุสสภูมิ) ที่ลอยอยู่รอบเขาพระสุเมรุ โดยชมพูทวีปตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ ส่วนอีก 3 ทวีปที่เหลือคือ ปุพพวิเทหทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ, อมรโคยานทวึป (อปรโคยานทวีป) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ และอุตตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ
พระไตรปิฏกยังกล่าวถึงที่มาของชื่อชมพูทวีปอีกว่า มีที่มาจากการที่ดินแดนแห่งนี้มีต้นหว้าเป็นต้นไม้ประจำทวีป (หรืออาจจะมีต้นหว้าขึ้นอยู่มาก) โดยต้นหว้าก็คือต้นชมพู(Jambul)นั่นเอง (สันนิษฐานว่า ต้นชมพู่ในบ้านเราอาจจะรับชื่อมาจากอินเดีย หรือไม่ก็นำพันธุ์มาจากอินเดียเลย เพราะต้นชมพู่และต้นหว้า เป็นพืชในสกุลเดียวกัน นั่นคือสกุล Syzygium)
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นแล้ว ดินแดนชมพูทวีป ก็คือ เอเชียใต้ในปัจจุบัน โดยตีความจากที่ตั้งซึ่งอยู่ทางทิศเขาพระสุเมรุ โดยเขาพระสุเมรุนี้ก็หมายถึงเทือกเขาหิมาลัยนั่นเอง ถึงแม้กาลเวลาจะเลยผ่านมาจากยุคพุทธกาลนานกว่า 2,000 ปีแล้วก็ตาม แม้หลายสิ่งจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เทือกเขา แผ่นดิน หรือแม่น้ำก็คงจะไม่เปลี่ยนสัณฐานไปเสียทีเดียว เมื่อพิจารณาดูแล้วเขาหรือเทือกเขาในแถบนี้ก็มีลูกเดียวคือเทือกเขาหิมาลัย และชมพูทวีปที่ว่าอยู่ทางทิศใต้ของเขาหิมาลัยนั้น ในปัจจุบันก็คือดินแดนเอเชียใต้นั่นเอง
ในปัจจุบันหลายคนอาจจะใช้คำว่า ชมพูทวีป เรียกแผ่นดินอินเดียเฉยๆ แต่ผมเห็นว่าเราควรจะใช้แทนคำว่าเอเชียใต้ไปเลย เพราะเป็นชื่อที่คนไทยทุกคนต้องเคยผ่านหูมาบ้างไม่มากก็น้อย และประวัติศาสตร์ประเทศแถบนี้ก็ล้านเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น ประเทศเอกราชในปัจจุบันที่ผมจัดให้อยู่ในชมพูทวีปมีดังนี้
1.อินเดีย เป็นประเทศหลักในชมพูทวีป ชื่ออินเดีย เป็นชื่อที่อังกฤษใช้เรียก เพี้ยนมาจาก อินดัส,อินดู,และสินธุ ตามลำดับ ส่วนชาวอินเดีย โดยเฉพาะชาวฮินดู จะเรียกประเทศตัวเองว่า ฮินดูสถาน แต่ถ้าเป็นคนอินเดียแต่เชื้อชาติอื่นจะใช้ชื่อกลางๆว่า ภารตะ (มีที่มาจากมหากาพย์ภารตะ)
2.ปากีสถาน เดิมเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียจนกระทั่งดินแดนในแถบนี้(ในชื่อบริติชราช)ประกาศเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.2490 ชื่อปากีสถานมาจากภาษาเปอร์เซีย หมายถึง ดินแดนบริสุทธิ์ และชื่อ PAKISTAN ยังมีที่มาจากชื่อรัฐ 5 รัฐคือ Punjab (ปัญจาบ), North-West Frontier Province (Afghan Province), Kashmir(แคชเมียร์), Sind(สินธุ) และ Baluchistan (เบลูจีสถาน)
3.เนปาล ชื่อเนปาลมีที่มาดังนี้ คำว่า เนปา มาจาก ชื่ออาณาจักรเนวาร์ หรืออาจมีที่มาจาก ฤษีเนมุณี ผู้สร้างเมืองในหุบเขากาฐมานฑุ และปาล ที่มาจากคำว่า ปาละ แปลว่า ปกปัก, รักษา, ดูแล เมื่อนำมารวมกันเป็น เนปาล จึงหมายถึง ดินแดนที่ปกปักรักษาโดยฤษีเนมุณี
4.ภูฏาน หนึ่งในประเทศสุดฮิตของคนไทย ชื่อประเทศอาจเพี้ยนมาจาก โพฏาน (หรืออาจจะเป็น โพธิ์ฐาน ที่หมายถึง การเกี่ยวพันกับพุทธศาสนา เพราะโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา)
5.บังกลาเทศ เดิมคือ ปากีสถานตะวันนออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศปากีสถาน และแยกประเทศออกมาเมื่อ พ.ศ.2514 โดยคำว่า บังกลา หรือเบงกอล นั้นไม่ทราบที่มาอย่างแน่ชัด แต่เป็นชื่อใช้เรียกพื้นที่และผู้คนในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา-พรมบุตรมานานกว่าพันปีแล้ว ชื่อบังกลาเทศจึงหมายถึง ประเทศของชาวเบงกอลนั่นเอง
6.ศรีลังกา เป็นประเทศที่อยู่บนเกาะ เดิมมีชื่อว่า ลังกา หรือสิงหล (ไทยเราเรียกว่า ลังกา หรือลังกาทวีป) ในยุคอาณานิคมอังกฤษเรียกว่า ซีลอน ปัจจุบันชื่อศรีลังกา มาจากภาษาสันสกฤต 2 คำคือ ศรี แปลว่า ดีงาม, มิ่งมงคล, เจริญรุ่งเรือง (มักเติมข้างหน้าคำนามเพื่อยกย่องคำๆนั้น) กับคำว่า ลังกา แปลว่า เกาะ ซึ่งคำว่าศรีลังกา จะใช้เรียกชื่อประเทศ ถ้าจะกล่าวเฉพาะตัวเกาะชาวศรีลังกาจะใช้คำว่า ลังกาวะ ส่วนชื่อประเทศในภาษาทมิฬคือ อิลังไก
7.อัฟกานิสถาน ประเทศนี้บางคนก็ไม่จัดว่าอยู่ในชมพูทวีป แต่ผมเห็นว่าอัฟกานิสถานมีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับดินแดนในแถบนี้ เพราะปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุลผู้ปกครองอินเดียก็ทรงมีเคยพำนักอยู่บริเวณอัฟกานิสถาน และในสมัยโมกุลนี้อินเดียก็มีอาณาเขตครอบคลุมมาถึงอัฟกานิสถานด้วย นอกจากนี้แล้วในปัจจุบันอัฟกานิสถานก็ยังมีกิจกรรมร่วมกับองค์กรในชมพูทวีปอีกด้วย ส่วนชื่ออัฟกันน่าจะมีที่มาจาก ชนเผ่าอัฟกัน ซึ่งเป็นชนเผ่าโบราณของชาวปัสทูน (ชาวปัสทูนก็คือชาติพันธุ์หลักในประเทศอัฟกานิสถาน และปากีสถาน)
8.มัลดีฟส์ ประเทศหมู่เกาะท่อยู่โดดเดี่ยวจากแผ่นดินใหญ่ แม้จะอยู่ไกลแต่ก็ได้รับวัฒนธรรมจากชมพูมวีปอยู่มาก อีกทั้งชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานก็คือชาวสิงหล และชาวดราวิเดียน ซึ่งล่องเรือมาจากชมพูทวีป ชื่อของมัลดีฟส์สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า มหา ในภาษาสันสกฤษแปลว่า ยิ่งใหญ่ หรืออาจจะมาจากคำว่า มาฮาล ในภาษาอาหรับที่แปลว่าปราสาท รวมกันกับ ดีฟส์ ที่น่าจะแผลงมาจากภาษาสันสกฤษว่า ทวีป ที่แปลว่า ดินแดน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น