วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

สิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงของอุษาทวีป (ภาคปฐมุษาทวีป)


ปฐมุษาทวีป เป็นคำที่ผมสมาสจากคำว่า ปฐม+อุษาทวีป แปลว่า ดินแดนแรกสุดของตะวันออก หรือเอเชียตะวันออกนั่นเอง

พระราชวังโปตาลา นครลาซา แคว้นปกครองตนเองธิเบต ประเทศจีน



พระราชวังโปตาลา หรือ ปู้ต้าล่ากง (布达拉宫) ในภาษาจีนกลาง สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2188 ในสมัยของ โลซาง ยัตโซ ซึ่งเป็นดาไลลามะองค์ที่ 5 ของธิเบต เพื่อใช้เป็นพระราชวังหลวงของธิเบต เดิมพื้นที่นี้เป็นซากวังและป้อมปราการเก่าที่สร้างซ้อนทับกันมาตั้งแต่รัชสมัยของ พระเจ้าซองซาน กัมโป ปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิธิเบต โดยวังเก่าที่ว่านี้สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.1180 และเรียกกันโดยทั่วไปว่า วังขาว และวังแดง ซึ่งมาจากสีของวังที่มีสีขาว และสีแดงนั่นเอง ปัจจุบันนี้ พระราชวังโปตาลา ถูกรัฐบาลจีนใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของธิเบต

พระราชวังโปตาลาตั้งอยู่บนเนินเขาแดง(มาร์โปรี) ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 3,700 เมตร ประกอบไปด้วยห้องหับต่างๆกว่า 1,000 ห้อง และมีเทวรูป-พุทธรูปมากถึง 200,000 องค์



กำแพงเมืองจีน ทอดตัวยาวกระจายไปในเขตของประเทศจีน


กำแพงเมืองจีน ถือว่าเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก โดยสันนิษฐานกันว่ามีการสร้างมาตั้งแต่ช่วง 700 ปีก่อนคริสต์ศักราช เพื่อป้องกันการรุกรานจากชนเผ่าเร่ร่อนจากมองโกลเลีย ช่วงแรกนั้นกำแพงเมืองจีนสร้างอย่างง่ายๆจากไม้ ดิน และหิน ที่เอามาผสมกัน โดยใช้ไม้และหินเป็นกรอบนอก และอัดดินเข้าไปตรงกลางให้แน่น

ส่วนกำแพงเมืองจีนที่เห็นยาวเหยียดในปัจจุบันสร้างขึ้นในรัชสมัยของ ฉินซีฮ่องเต้ (พ.ศ.322-337) องค์ปฐมจักรพรรดิของจีน ซึ่งได้บูรณะกำแพงของเก่า และทำการสร้างกำแพงใหม่ต่อเนื่องจากกำแพงเก่า พร้อมกับใช้วิธีการก่อสร้างกำแพงที่แข็งแรงและทนทาน โดยการเกณฑ์แรงงานทาส และชาวบ้านเข้ามาสร้างเป็นจำนวนมาก และหลังจากนั้นก็สร้างต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) ซึ่งถ้านับเฉพาะการสร้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินถึงราชวงศ์หมิง การก่อสร้างกำแพงเมืองจีนนี้ก็กินเวลายาวนานเกือบ 2,000 ปีเลยทีเดียว

ตัวกำแพงทอดตัวยาวจากตะวันออกในอำเภอซันไห่กวน ทอดตัวยาวไปสู่ทิศตะวันตกผ่านมณฑลต่างในภาคตะวันออกของจีนไปสิ้นสุดบริเวณทะเลสาบลอบ ในแคว้นปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ นอกจากนี้แล้วกำแพงเมืองจีนยังมีแขนงแยกย่อยออกไปจากแนวกำแพงหลักอีกหลายแขนง เป็นผลมาจากการก่อสร้างตามเหตุปัจจัยของราชวงศ์ที่สร้างในแต่ละยุค




พระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน


พระราชวังต้องห้าม หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาจีนว่า "กู้กง (故宫)" ที่แปลว่า "วังเก่า" ส่วนชื่อพระราชวังต้องห้ามในภาษาไทยที่เรานิยมเรียกกันนี้มาจากชื่อภาษาจีนว่า "จื่อจิ้นเฉิง (紫禁城)" แปลตามตัวอักษรเป็นไทยว่า "เมืองต้องห้ามสีเลือดหมู" มีที่มาจาก การห้ามสามัญชนเข้ามาในเขตพระราชวัง(ที่ใหญ่เท่าเมือง)โดยเด็ดขาด และสีของพระราชวังจะออกโทนสีเลือดหมู

พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1949 ในรัชสมัยของจักรพรรดิหยงเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง หลังจากที่พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงจาสกนานกิงกลับมายังปักกิ่งอีก ใช้เวลาก่อสร้าง 14 ปีจึงแล้วเร็จ โดยพื้นที่ทั้งหมด 450 ไร่ (720,000 ตร.ม.) ประกอบไปด้วยหมู่พระราชมณเทียร 800 หลัง พระที่นั่ง 75 องค์ รวมทั้งอาคารเล็กอาคารน้อยอื่นๆ พระราชอุทยาน ลานกว้าง คูน้ำ และกำแพงที่สูง 11 เมตร ซึ่งรวมทั้งแล้วจะมีห้องทั้งหมด 9,999 ห้อง

พระราชวังต้องห้ามเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจักรพรรดิจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง จนถึงราชวงศ์ชิง และแม้ว่าปัจจุบันระบอบจักรพรรดิในประเทศจีนจะถูกล้มล้างไปแล้วก็ตาม แต่พระราชวังแห่งนี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของประเทศจีน โดยทางการจีนได้ใช้เป็นตราประจำสาธาณรัฐประชาชนจีน ควบคู่กับประตูเทียนอันเหมิน



จตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน


จตุรัสเทียนอันเหมิน ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของพระราชวังต้องห้าม เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของกรุงปักกิ่ง และประเทศจีน ว่ากันว่าเป็นจตุรัสที่ใหญ่ทีสุดในโลก ด้วยพื้นที่ทั้งหมด 275 ไร่ (440,000 ตร.ม.) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1417 สมัยราชวงศ์หมิง มีชื่อเดิมว่า "เฉิงเทียนเหมิน" แต่ใน พ.ศ.1651 จักรพรรดิซุ่นจื่อ แห่งราชวงศ์ชิง ได้ทำการบูรณะจตุรัสแห่งนี้เสียใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น "เทียนอันเหมิน" ที่แปลว่า ประตูสันติภาพแห่งสวรรค์

จตุรัสเทียนอันเหมือนประกอบไปด้วยหมู่อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ดังนี้ ทิศเหนือเป็นที่ตั้งของประตูเทียนอันเหมิน ซึ่งใช้เป็นทางเข้าสู่พะราชวังต้องห้าม โดยประตูแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเทศจีน ซึ่งมีภาพวาดของท่านประธานเหมาประดับอยู่ นอกจากนี้ยังมีธงแดง 5 ดาว (ธงชาติจีน) ผืนใหญ่โบกสะบัดพริ้วไหวอยู่บนเสาธงที่อยู่ถัดลงมาจากประตูเทียนอันเหมินอีกด้วย

ทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของมหาศาลาประชาคม ด้านทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์การปฏิวัติแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จีน ด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งของหอรำลึกประธานเหมาและประตูหยางเหมิน ส่วนใจกลางจตุรัสเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์วีรชน


เวเนเชี่ยน เขตปกครองพิเศษมาเก๊า ประเทศจีน


เวเนเชี่ยน เป็นทั้งโรงแรมและบ่อนการพนัน ที่มีบริษัทลาสเวกัสแซนด์ส บริษัทกาสิโนยักษ์ใหญ่จากลาสเวกัสเป็นเจ้าของ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของมาเก๊าในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2547 นอกจากนี้ยังครองสถิติเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ที่สุดในอุษาทวีป และยังเป็นอาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก จากพื้นที่ทั้งหมด 612 ไร่ 2 งาน (980,000 ตร.ม.)

ภายในประกอบไปด้วยห้องพัก 3,000 ห้อง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสารพัดอย่าง และที่สำคัญคือส่วนของกาสิโนที่รองรับผีพนันจากทั่วทุกมุมโลก(โดยเฉพาะอุษาชนที่เป็นลูกค้าหลัก) ประกอบไปด้วยตู้สล็อต 3,400 ตู้ และโต๊ะพนัน 800 โต๊ะ ซึ่งสามารถจุนักพนันได้ 15,000 ที่นั่ง

สถาปัตยกรรมการตกแต่งนั้นเป็นการจำลองเมืองเวนิซในอิตาลีมาไว้ข้างในโรงแรม พร้อมทั้งคูคลอง ตึกรามบ้านช่อง ท้องฟ้า เรือกอนโดล่า และผู้คน(พนักงาน) ที่จัดวางองค์ประกอบออกมาสวยงามดึงดูดใจผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก






ซากโบสถ์เซนต์ปอล เขตปกครองพิเศษมาเก๊า ประเทศจีน


ซากโบสถ์แห่งนี้เดิมเคยเป็นโบสถ์คาธอลิค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยเซนต์ปอล สร้างขึ้นโดยคณะนักบุญเยซูอิตชาวโปรตุเกส ระหว่าง พ.ศ.2125-2145 เมื่อแล้วเสร็จก็กลายเป็นโบสถ์คาธอลิคที่ใหญ่ที่สุดของอุษาทวีปในขณะนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2378 ตัวโบสถ์ได้เสียหายลงจากพายุไต้ฝุ่นที่พัดเข้าถล่มหม่าเก๊า จนเหลือเพียงแต่ส่วนของผนังประตูโบสถ์เท่านั้น จึงทำให้โบสถ์เซนต์ปอลกลายเป็นที่สนใจจากรูปร่างที่แปลกตา และเป็สัญลักษณ์สำคัญของหม่าเก๊าที่นักท่องเที่ยวมักจะไปถ่ายรูปกันอย่างสม่ำเสมอ













คลองชองกเยชอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้


คลองแห่งนี้เดิมเคยเป็นธารน้ำสายเล็กๆ ชื่อว่า "เกชอน" ที่แปลว่า ลำธาร และได้ทำการขุดลอกเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้าแทจง (ครองราชย์ พ.ศ.1943-1961) กษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์โชซอน ต่อมาในสมัยที่เกาหลีตกอยู่ใต่อาณัติของญี่ปุ่น จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "ชองกเยซอน" ดังเช่นทุกวันนี้

หลังจากนั้น เกาหลีใต้ก็เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม กรุงโซลจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และพื้นที่คลองก็ถูกถมเพื่อสร้างถนน ทางด่วน บางส่วนของคลองก็ถูกทิ้งให้เป็นคลองน้ำเน่าที่เสื่อมโทรม จนกระทั่งปี พ.ศ.2546 ในสมัยที่นาย ลี มยองบัก เป็นผู้ว่าการกรุงโซล เขาเป็นผู้นำในการบูรณะคลองสายนี้ขึ้นมาใหม่ โครงการนี้ถือเป็นโครงการใหญ่มากของกรุงโซล โดยเริ่มจากการรื้อถนนและทางด่วนเส้นที่พาดผ่านคลอง และขุดลอกตบแต่งภูมิทัศน์ริมคลองขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ใช้งบประมาณไปกว่าหมื่นล้านบาท แม้จะมีกระแสต่อต้านในตอนแรกว่าเป็นการฟุ่มเฟือย แต่ปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้ว่าคลองชองกเยซอนคือหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเกาหลีใต้






ปราสาทฮิเมะจิ เมืองฮิเมะจิ ประเทศญี่ปุ่น


ปราสาทฮิเมะจิ เป็นปราสาทแบบป้อมปราการ คล้ายๆกับปราสาทแบบ ฟอร์เทรส ของฝรั่ง ซึ่งนับว่าเป็นปราสาทไสตล์ญี่ปุ่นที่งดงามและสมบูรณ์แบบที่สุด โดยมีชื่อเล่นที่ชาวญี่ปุ่นนิยมเรียกกันว่า "ปราสาทนกกระสาขาว" (ฮะรุโกะโจ) เนื่องจากตัวปราสาทมีสีขาวสวยเด่นสะดุดตา

ปราสาทแห่งนี้สร้างโดย อะกะมัตสึ โนะริมูระ โดยสร้างบนเนินเขาฮิเมะยะมะ หลังจากนั้นปราสาทก็ถูกผลัดเปลี่ยนการเป็นเจ้าของหลายครั้ง โดยมีครั้งสำคัญดังนี้ พ.ศ.2124 โทะโยะโทะมิ ฮิเดะโยะชิ เป็นเจ้าของปราสาท และได้สร้างอาคารหลัก 3 ชั้น แต่ตัวปราสาทที่เห็นสมบูรณ์ในปัจจุบันสร้างต่อเติมขึ้นโดย อิเคะดะ เทะรุมะสะ ซึ่งได้รับมอบปราสาทจาก โทะคุงะวะ อิเอะยะสึ











วัดคิงกะกุ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น 


วัดคิงกะกุ (金閣寺 อ่านว่า คิงกะกุจิ) หรือแปลเป็นไทยว่า วัดศาลาทอง มีชื่ออย่างเป็นการว่าวัดโระกุอง โดยมีจุดเด่นที่สุดก็คือ ศาลาทอง อันเป็นที่มาของชื่อวัด หากใครเคยดูการ์ตูนอิคคิวซัง คงจะจำปราสาททองคำที่โชกุนโยะชิมิทซึอาศัยอยู่ได้ เพราะศาลาทองคำที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็คือปราสาททองคำของโชกุนโยะชิมิทซึนั่นเอง โดยท่านโชกุนได้สร้างศาลา(ปราสาท) แห่งนี้ขึ้นใน พ.ศ.1490 เพื่อใช้เป็นที่พำนักของตัวท่านเอง ตัวศาลามี 3 ชั้น โดยชั้นที่ 2-3 ปิดทองด้วยแผ่นทองคำบริสุทธิ์ และบนยอดหลังคายังมีรูปปั้นนกโฮโอทองคำอีกด้วย (นกโฮโอ คือ นกฟีนิกซ์ ของฝรั่งนั่นแหละครับ)

ต่อมาภายหลังจากท่านโชกุนสิ้นชีวิตแล้ว ลูกชายของท่านก็เปลี่ยนพื้นที่บริเวณศาลาแห่งนี้ให้เป็นวัดในนิกายเซน โดยยังคงศาลาทองคำหลังนี้เอาไว้ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของนครเกียวโตในปัจจุบัน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ศาลาทองคำเคยถูกเผาทำลายมาแล้วในปี พ.ศ.2493 และได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในปี พ.ศ.2498











วัดคิโยะมิซึ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น


วัดแห่งนี้โดดเด่นตรงศาลาไม้หลังใหญ่ที่อยู่ริมเชิงเขา โดยระเบียงของศาลาแห่งนี้สร้างยื่นออกไปจากเชิงเขาโดยมีเสาไม้รองรับระเบียงนี้อยู่ถึง 131 ต้น นับว่าเป็นความสวยงามและมหัศจรรย์ในเชิงสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก จึงทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นสถานที่สำคัญที่ใครมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วจะพลาดวัดคิฌยะมิซึไปไม่ได้เลย

ตามประวัติแล้ววัดแห่งนี้ก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.1341 แต่อาคารส่วนมากและตัวศาลาใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาทีหลังในสมัยที่โชกุน โทะกุงะวะ อิเอมิสึ (เป็นหลานของอิเอยะสึ) เข้ามาบูรณะวัดครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2176 โดยอาคารสำคัญอื่นๆ นอกจากศาลาใหญ่ อาทิ ศาลเจ้าจิชู, เจดีย์และซุ้มประตูหน้าวัด เป็นต้น นอกจากนี้ด้านล่างศาลาใหญ่ ยังมีน้ำตกโอะตะวะ ซึ่งเป็นนำตกเล็กๆ ที่ไหลลงมาเป็น 3 สาย โดยเชื่อกันว่า เป็นน้ำศักสิทธิ์ที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้สารพัด อีกทั้งยังเป็นที่มาของชื่อวัดอีกด้วย เนื่องจากชื่อวัดคิโยะมิซึ แปลว่า วัดนำใสบริสุทธิ์(น้ำทิพย์) ซึ่งหมายถึงนำตกโอะตะวะนั่นเอง






โตเกียวทาวเวอร์ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น


โตเกียวทาวเวอร์ เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของกรุงโตเกียว จนถึงกับมีคำกล่าวโดยชาวญี่ปุ่นว่า "ตราบใดที่ยังคงมองเห็นโตเกียวทาวเวอร์ แสดงว่าคุณยังคงอยู่ในเขตของกรุงโตเกียว" แสดงให้เห็นว่าหอคอยแห่งนี้เป็นสิง่ก่อสร้างที่สำคัญในเชิงสัญลักษณ์ของกรุงโตเกียวเป็นอย่างมาก

แต่หน้าที่จริงๆแล้วก็คือ การเป็นหอคอยส่งสัญญานวิทยุของสถานีโทรทัศน์น์และสถถานีวิทยุสำคัญๆในญี่ปุ่น อาทิ NHK, Asahi, TBS, J-WAVE, Tokyo FM เป็นต้น โดยเริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2501 โดยมีความสูงจากพื้นถึงยอด 332.6 เมตร นอกจาการเป็นเสาส่งสัญญานวิทยุแล้ว อีกหน้าที่สำคัญคือการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นหอคอยแห่งนี้เพื่อชมวิวของกรุงโตเกียวกว่า 2 ล้านคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น