วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

สิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงของอุษาทวีป (ภาคปฐมุษาทวีป)


ปฐมุษาทวีป เป็นคำที่ผมสมาสจากคำว่า ปฐม+อุษาทวีป แปลว่า ดินแดนแรกสุดของตะวันออก หรือเอเชียตะวันออกนั่นเอง

พระราชวังโปตาลา นครลาซา แคว้นปกครองตนเองธิเบต ประเทศจีน



พระราชวังโปตาลา หรือ ปู้ต้าล่ากง (布达拉宫) ในภาษาจีนกลาง สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2188 ในสมัยของ โลซาง ยัตโซ ซึ่งเป็นดาไลลามะองค์ที่ 5 ของธิเบต เพื่อใช้เป็นพระราชวังหลวงของธิเบต เดิมพื้นที่นี้เป็นซากวังและป้อมปราการเก่าที่สร้างซ้อนทับกันมาตั้งแต่รัชสมัยของ พระเจ้าซองซาน กัมโป ปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิธิเบต โดยวังเก่าที่ว่านี้สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.1180 และเรียกกันโดยทั่วไปว่า วังขาว และวังแดง ซึ่งมาจากสีของวังที่มีสีขาว และสีแดงนั่นเอง ปัจจุบันนี้ พระราชวังโปตาลา ถูกรัฐบาลจีนใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของธิเบต

พระราชวังโปตาลาตั้งอยู่บนเนินเขาแดง(มาร์โปรี) ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 3,700 เมตร ประกอบไปด้วยห้องหับต่างๆกว่า 1,000 ห้อง และมีเทวรูป-พุทธรูปมากถึง 200,000 องค์



กำแพงเมืองจีน ทอดตัวยาวกระจายไปในเขตของประเทศจีน


กำแพงเมืองจีน ถือว่าเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก โดยสันนิษฐานกันว่ามีการสร้างมาตั้งแต่ช่วง 700 ปีก่อนคริสต์ศักราช เพื่อป้องกันการรุกรานจากชนเผ่าเร่ร่อนจากมองโกลเลีย ช่วงแรกนั้นกำแพงเมืองจีนสร้างอย่างง่ายๆจากไม้ ดิน และหิน ที่เอามาผสมกัน โดยใช้ไม้และหินเป็นกรอบนอก และอัดดินเข้าไปตรงกลางให้แน่น

ส่วนกำแพงเมืองจีนที่เห็นยาวเหยียดในปัจจุบันสร้างขึ้นในรัชสมัยของ ฉินซีฮ่องเต้ (พ.ศ.322-337) องค์ปฐมจักรพรรดิของจีน ซึ่งได้บูรณะกำแพงของเก่า และทำการสร้างกำแพงใหม่ต่อเนื่องจากกำแพงเก่า พร้อมกับใช้วิธีการก่อสร้างกำแพงที่แข็งแรงและทนทาน โดยการเกณฑ์แรงงานทาส และชาวบ้านเข้ามาสร้างเป็นจำนวนมาก และหลังจากนั้นก็สร้างต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) ซึ่งถ้านับเฉพาะการสร้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินถึงราชวงศ์หมิง การก่อสร้างกำแพงเมืองจีนนี้ก็กินเวลายาวนานเกือบ 2,000 ปีเลยทีเดียว

ตัวกำแพงทอดตัวยาวจากตะวันออกในอำเภอซันไห่กวน ทอดตัวยาวไปสู่ทิศตะวันตกผ่านมณฑลต่างในภาคตะวันออกของจีนไปสิ้นสุดบริเวณทะเลสาบลอบ ในแคว้นปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ นอกจากนี้แล้วกำแพงเมืองจีนยังมีแขนงแยกย่อยออกไปจากแนวกำแพงหลักอีกหลายแขนง เป็นผลมาจากการก่อสร้างตามเหตุปัจจัยของราชวงศ์ที่สร้างในแต่ละยุค


วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงของอุษาทวีป (ภาคชมพูทวีป)

หลังจากในภาคแรกที่พาไปรู้จักสิ่งก่อสร้างดังๆในอาหรับ(แถมเปอร์เซียและอนาโตเลีย) บทความนี้เราจะพากันมุ่งสู่ตะวันออก เพื่อกรีฑาทัพเข้ารุกอินเดีย อุ้ย...ลืมตัวนึกว่าเรามากับกองทัพพระเจ้าเอล็กซานเดอร์ เราจะไปทำความรู้จักกับสอ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงแห่งชมพูทวีปกันต่างหากล่ะ ขึ้นชื่อว่าชมพูทวีปหรืออินเดียแล้วมันย่อมจะมีวัฒนธรรมที่แปลกและแตกต่างปรากฎอยู่ในสถาปัตยกรรมการก่อสร้างอย่างน่าอัศจรรย์ใจหลายแห่งเลย

พระพุทธรูปยืนแห่งบามิยัน เมืองบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน


พระพุทธรูปยืนแห่งบามิยันเป็นงานแกะสลักพระพุทธรูปบนหน้าผาหินทรายในหุบเขาบามิยัน แต่ได้ถูกทำลายลงโดยรัฐบาลตอลีบัน เมื่อครั้งยังครองอำนาจอยู่ในอัฟกานิสถาน เมื่อปี พ.ศ.2544 จนทำให้ทั่วทั้งโลกตกตะลึงและกล่าวโจมตีรัฐบาลตอลีบันอย่างหนัก และแม้ว่าองค์พระพุทธรูปจะพังทลายเสียหายอย่างย่อยยับไปแล้ว แต่เหตุระเบิดครั้งนี้ก็ทำให้ชื่อของพระพุทธรูปยืนแห่งบามิยันเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะชาวพุทธเท่านั้น ปัจจุบันนานาชาติพยายามจะเข้าไปบูรณะองค์พระพุทธรูปขึ้นมาใหม่ แต่การดำเนินการยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในอัฟกานิสถาน

ซ้าย : ก่อนโดนระเบิด  ขวา : หลังโดนระเบิด
องค์พระมี 2 องค์ ขนาดความสูง 55 เมตร และ 37 เมตรตามลำดับ เมื่อครั้งยังไม่ถูกระเบิดทำลาย องค์พระที่สูง 55 เมตร ถือเป็นไฮไลต์สำคัญในหมู่สถาปัตยกรรมของหุบเขาบามิยัน และยังครองตำแหน่งพระพุทธรูปยืนที่สูงที่สุดในโลกอีกด้วย มีข้อสันนิษฐานกันว่าพระพุทธรูปยืนนี้สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรคันธาระ ประมาณ พ.ศ.1050 โดยการเจาะสกัดผนังถ้ำเป็นคูหาเพื่อสร้างอาราม และสถาปัตยกรรมหลักก็คือพระพุทธรูปยืน เป็นศิลปะเป็นแบบคันธาระที่มีชื่อเสียง  เนื่องจากผสมผสานมาจากอารยะธรรมกรีก เปอร์เซีย และอินเดีย



วิหารทองคำ เมืองอัมฤตธิ์สาร์ รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย


วิหารทองคำ หรือชื่อในภาษาปัญจาบว่า ฮะร์มันดีร์ชาฮิบ (ਹਰਿਮੰਦਰ ਸਾਹਿਬ) เป็นศาสนสถานสำคัญที่สุดในศาสนาซิกข์ และเป็นสถานที่เก็บพระคัมภีร์อธิครันธ์ อันเป็นพระคำภีร์ศักสิทธิ์ที่บัญญัติขึ้นโดยท่าคุรุอาร์จานเทพ ตัววิหารตั้งอยู่กลางเมืองอัมฤตธิ์สาร์ เริ่มก่อสร้างขึ้นในสมัยของท่านคุรุรามทาส ซึ่งเป็นคุรุท่านที่ 4 ของศานาซิกข์ เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมของชาวซิกข์ในอินเดีย แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็ล่วงเข้ามาถึง พ.ศ.2177 ในสมัยของท่านคุรุอาร์จานเทพ ซึ่งเป็นคุรุท่านที่ 5

ตัววิหารตั้งอยู่กลางสระน้ำ หรือที่เรียกว่าสระน้ำอัมฤตธิ์ (ต่อมาได้นำมาใช้เป็นชื่อเมือง) โดยมีสะพานเชื่อมระหว่างตัววิหารกับประตูทางเข้าวิหารที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ โดยรอบจะมีกำแพงล้อมรอบสระย้ำ และวิหารอยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งกำแพงนี้จะมีประตูทางเข้าอยู่ทั้ง 4 ด้าน

ลักษณะพิเศษของวิหารที่มองเห็นได้เด่นชัดคือตัววิหารสีทอง เป็นผลมาจากตกแต่งของ มหาราขารันยิต ซิงห์ ในปี พ.ศ.2373 โดยการนำแผ่นทองคำมาหุ้มทับส่วนบนของวิหารขึ้นไปจนถึงยอดโดม นอกจากนี้แล้วมหาราชารันยิตยังได้มีการตกแต่งภายในวิหารด้วยงานแกะสลักหินอ่อนที่วิจิตรงดงามอีกด้วย




วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

สิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงของอุษาทวีป (ภาคอนุทวีปอาหรับ)

ชนชาวอุษาทวีปถือได้ว่าเป็นคนที่ขี้อวด และมักจะทำอะไรใหญ่โตจนออกจะเว่อร์ไปมาก ขนาดที่มีสำนวนว่า "เสียเงินข้าไม่ว่า เสียหน้าข้าไม่ยอม" เพื่อมาอธิบายคุณลักษณะนิสัยของชาวอุษาทวีปเลยทีเดียว ฉะนั้น ในทวีปแห่งนี้จึงมีสิ่งก่อสร้างมากมายที่อวดโฉมและดึงดูดเม็ดเงินของชาวโลกให้ไหลเข้าสู่ดินแดนนี้ปีละหลายหมื่นหลายแสนล้านยูเอสดอลลาร์ ผมจึงได้คัดเอาสิ่งก่อสร้างสำคัญในแผ่นดินของเรามาลงไว้ในบทความนี้ เพื่อให้พี่น้องชาวไทยได้ทำความรู้จัก(หรือรู้จักอยู่แล้ว) และซึบซับความยิ่งใหญ่ของเรากันครับ โดยผมจะไล่จากตะวันตกยันตะวันออก เรามาดูกันซิว่ามีที่ไหนกันบ้าง

ขณะที่เขียนไล่ไปทีละสถานที่และกะจะจบลงภายในบทความเดียว แต่ผมก็รู้สึกว่ายิ่งเขียนยิ่งยาว ยิ่งเขียนยิ่งรู้สึกว่าทวีปของเรามีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญและมีชื่อเสียงเยอะมาก จนผมหาทางออกจากแผ่นดินอาหรับไม่เจอซะที ครั้นจะเขียนแค่สองสามแห่งก็ตะขิดตะขวงใจ ผมเลยตัดออกมาเป็นภาคซะเลยจะดีกว่า เพราะทวีปของเรามันช่างยิ่งใหญ่อลังการเกินกว่าจะเขียนให้จบได้ในบทความเดียวจริงๆ

สุเหร่าโซเฟีย นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี


ปัจจุบันนี้ สุเหร่าโซเฟียไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจแล้ว เพราะเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์แทน ชื่อในภาษาตุรกีออกเสียงว่า อายาโซเฟีย (Ayasofya) โดยคำว่า อายา แปลว่า โบสถ์,สุเหร่า ส่วนคำว่า โซเฟีย แปลว่า ปัญญา รวมกันจึงหมายความว่า สุเหร่า(โบสถ์)แห่งปัญญา

สุเหร่าโซเฟียเป็นสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์ มีจุดเด่นอยู่ตรงยอดโดมขนาดใหญ่ ในอดีตเมื่อครั้งแรกสร้างเคยเป็นโบสถ์ในคริสศาสนานิกายออร์โธดอกซ์มาก่อน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1075 ในรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ บนพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นที่ตั้งโบสถ์มาก่อนถึง 2 หลัง แต่ได้พังทลายลงไปเนื่องจากการจราจล และเพลิงไหม้ตามลำดับ

ได้รับการออกแบบโดยนักฟิสิกส์ชื่อ อิสิโดโรสแห่งมิเลตุส และนักคณิตศาสตร์ชื่อ แอนเทมิอุสแห่งทราเรส สำหรับวัสดุในการก่อสร้างนำมาจากทั่วจักรวรรดิ อาทิ เสาแบบเฮเลนิสติกจากวิหารอาร์ทีมิส หินเนื้อดอกจากอิยิปต์ หินอ่อนเขียวจากแคว้นเทสซาลี หินสีดำจากบอสฟอรัส หินเหลืองจากซีเรีย และใช้แรงงานในการก่อสร้างกว่า 10,000 คน การก่อสร้างใช้เวลาเพียง 5 ปีก็แล้วเสร็จ มีการเปิดโบสถ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.1080

หลังจากนั้นโบสถ์แห่งนี้ก็ต้องประสบกับแผ่นดินไหว และเพลิงไหม้อยู่เสมอๆ แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอเช่นกัน จนกระทั่งจักรวรรดิออตโตมันพิชิตจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ในปี พ.ศ.1996 สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 จึงดัดแปลงโบสถ์ให้กลายเป็นสุเหร่า โดยย้ายสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ออกไป และแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ของอิสลาม สุเหร่าโซเฟียเป็นสุเหร่าหลักของอิสตันบูลมากว่า 500 ปีจน จนใน พ.ศ.2478 สุเหร่าโซเฟียก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์โดยสาธารณรัฐตุรกีจนถึงปัจจุบัน

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

ชมพูทวีป


ชมพูทวีป (Jambul Dwipa) หมายถึงดินแดนอินเดียโบราณ และในปัจจุบัน (และตัวผมเอง) หมายถึง ดินแดนของประเทศในเอเชียใต้หรืออนุทวีปอินเดีย

มีอยู่ 3 ศาสนาที่กล่าวถึงชมพูทวีป คือ ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู และศาสนาเชน ซึ่งทั้ง 3 ศาสนาเกิดขึ้นในอินเดียทั้งสิ้น ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครใช้คำว่าชมพูทวีปแล้ว คนไทยส่วนมากจะหันไปใช้คำว่าเอเชียใต้ ที่แปลมาจาก South Asia อีกทอดนึงกันเสียมากกว่า

ในพระไตรปิฏกอธิบายว่า ชมพูทวีป คือ 1 ใน 4 ดินแดนของมนุษย์(มนุสสภูมิ) ที่ลอยอยู่รอบเขาพระสุเมรุ โดยชมพูทวีปตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ ส่วนอีก 3 ทวีปที่เหลือคือ ปุพพวิเทหทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ, อมรโคยานทวึป (อปรโคยานทวีป) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ และอุตตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

12 ยุทธการพลิกหน้าประวัติศาสตร์อุษาทวีป (ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก)

เอามาจากบทความชื่อว่า Twelve Little-Known Asian Battles That Changed History บนเว็บไซต์ asianhistory.about.com ที่ผมนำเอามาแปลและเรียบเรียงใหม่ โดยจะกล่าวถึงการทำสงครามครั้งสำคัญๆในหน้าประวัติศาสตร์ของอุษาทวีป ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักกันสักเท่าไหร่ (จะมีก็แต่นักประวัติศาสตร์เท่านั้น) แต่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประวัติศาสตร์อุษาทวีปของเราเป็นอย่างมาก

ยุทธการกอกามีลา (Battle of Gaugamela) ; 331 ปีก่อนคริสตกาล 

 (ภาพวาดการรบในยุทธการกอกามีลา ; ภาพจาก en.wikipedia.org)

ในปีที่ 331 ก่อนคริสตกาล กองทัพอันเกรียงไกรจาก 2 จักรวรรดิได้มาปะทะกันที่กอกามีลา (Gaugamela) หรือที่รู้จักกันในชื่อ อาร์บีล่า (Arbela)

กองทหารมาซิโดเนีย 40,000 นาย ภายใต้การนำทัพของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) เคลื่อนพลมุ่งหน้าสู่ตะวันออกเพื่อไปพิชิตอินเดีย ทว่า...ระหว่างการเดินทางกลับพบกับกองทัพเปอร์เซียที่นำทัพโดยกษัตริย์ดาริอุสที่ 3 แห่งเปอร์เซีย (Darius III) ซึ่งมีกำลังพลระหว่าง 50,000-100,000 นาย

ผลการรบปรากฏว่ากองทัพเปอร์เซียต้องพบกับความพ่ายแพ้ โดยเหลือกำลังทหารที่รอดชีวิตเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ส่วนฝ่ายของอเล็กซานเดอร์เหลือทหารประมาณ 1/10 ของกำลังทหารทั้งหมด กองทหารมาซิโดเนียได้ยึดทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลของเปอร์เซีย โดยสมบัติเหล่านี้จะกลายเป็นทุนสำคัญในการรบของอเล็กซานเดอร์ต่อไปในภายภาคหน้า นอกจากนี้อเล็กซานเดอร์ยังเข้าไปเปลี่ยนแปลงค่านิยมการแต่งกายของชาวเปอร์เสียใหม่อีกด้วย ผลจากการพ่ายแพ้ของกองทัพเปอร์เซียที่สมรภูมิกอกามีลานี้ทำให้กองทัพของอเล็กซานเดอร์สามารถกรีฑาทัพเข้าสู่อุษาทวีป และเป็นผลให้อเล็กซานเดอร์กลายเป็นมหาราชไปในที่สุด

* มีข้อสันนิษฐานตามการเรียกชื่อว่ากอกามีลาหรืออาร์บีล่านี้ อาจจะเป็นโกเมล (Gomel คล้ายกับ Gaugamela) ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองโมซุล และอยู่ไม่ไกลจากเมืองเออร์บิล (Irbil คล้ายกับ Arbela) ซึ่งเมืองทั้งหมดนี้อยู่ในเขตประเทศอิรักในปัจจุบัน