วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงของอุษาทวีป (ภาคชมพูทวีป)

หลังจากในภาคแรกที่พาไปรู้จักสิ่งก่อสร้างดังๆในอาหรับ(แถมเปอร์เซียและอนาโตเลีย) บทความนี้เราจะพากันมุ่งสู่ตะวันออก เพื่อกรีฑาทัพเข้ารุกอินเดีย อุ้ย...ลืมตัวนึกว่าเรามากับกองทัพพระเจ้าเอล็กซานเดอร์ เราจะไปทำความรู้จักกับสอ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงแห่งชมพูทวีปกันต่างหากล่ะ ขึ้นชื่อว่าชมพูทวีปหรืออินเดียแล้วมันย่อมจะมีวัฒนธรรมที่แปลกและแตกต่างปรากฎอยู่ในสถาปัตยกรรมการก่อสร้างอย่างน่าอัศจรรย์ใจหลายแห่งเลย

พระพุทธรูปยืนแห่งบามิยัน เมืองบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน


พระพุทธรูปยืนแห่งบามิยันเป็นงานแกะสลักพระพุทธรูปบนหน้าผาหินทรายในหุบเขาบามิยัน แต่ได้ถูกทำลายลงโดยรัฐบาลตอลีบัน เมื่อครั้งยังครองอำนาจอยู่ในอัฟกานิสถาน เมื่อปี พ.ศ.2544 จนทำให้ทั่วทั้งโลกตกตะลึงและกล่าวโจมตีรัฐบาลตอลีบันอย่างหนัก และแม้ว่าองค์พระพุทธรูปจะพังทลายเสียหายอย่างย่อยยับไปแล้ว แต่เหตุระเบิดครั้งนี้ก็ทำให้ชื่อของพระพุทธรูปยืนแห่งบามิยันเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะชาวพุทธเท่านั้น ปัจจุบันนานาชาติพยายามจะเข้าไปบูรณะองค์พระพุทธรูปขึ้นมาใหม่ แต่การดำเนินการยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในอัฟกานิสถาน

ซ้าย : ก่อนโดนระเบิด  ขวา : หลังโดนระเบิด
องค์พระมี 2 องค์ ขนาดความสูง 55 เมตร และ 37 เมตรตามลำดับ เมื่อครั้งยังไม่ถูกระเบิดทำลาย องค์พระที่สูง 55 เมตร ถือเป็นไฮไลต์สำคัญในหมู่สถาปัตยกรรมของหุบเขาบามิยัน และยังครองตำแหน่งพระพุทธรูปยืนที่สูงที่สุดในโลกอีกด้วย มีข้อสันนิษฐานกันว่าพระพุทธรูปยืนนี้สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรคันธาระ ประมาณ พ.ศ.1050 โดยการเจาะสกัดผนังถ้ำเป็นคูหาเพื่อสร้างอาราม และสถาปัตยกรรมหลักก็คือพระพุทธรูปยืน เป็นศิลปะเป็นแบบคันธาระที่มีชื่อเสียง  เนื่องจากผสมผสานมาจากอารยะธรรมกรีก เปอร์เซีย และอินเดีย



วิหารทองคำ เมืองอัมฤตธิ์สาร์ รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย


วิหารทองคำ หรือชื่อในภาษาปัญจาบว่า ฮะร์มันดีร์ชาฮิบ (ਹਰਿਮੰਦਰ ਸਾਹਿਬ) เป็นศาสนสถานสำคัญที่สุดในศาสนาซิกข์ และเป็นสถานที่เก็บพระคัมภีร์อธิครันธ์ อันเป็นพระคำภีร์ศักสิทธิ์ที่บัญญัติขึ้นโดยท่าคุรุอาร์จานเทพ ตัววิหารตั้งอยู่กลางเมืองอัมฤตธิ์สาร์ เริ่มก่อสร้างขึ้นในสมัยของท่านคุรุรามทาส ซึ่งเป็นคุรุท่านที่ 4 ของศานาซิกข์ เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมของชาวซิกข์ในอินเดีย แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็ล่วงเข้ามาถึง พ.ศ.2177 ในสมัยของท่านคุรุอาร์จานเทพ ซึ่งเป็นคุรุท่านที่ 5

ตัววิหารตั้งอยู่กลางสระน้ำ หรือที่เรียกว่าสระน้ำอัมฤตธิ์ (ต่อมาได้นำมาใช้เป็นชื่อเมือง) โดยมีสะพานเชื่อมระหว่างตัววิหารกับประตูทางเข้าวิหารที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ โดยรอบจะมีกำแพงล้อมรอบสระย้ำ และวิหารอยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งกำแพงนี้จะมีประตูทางเข้าอยู่ทั้ง 4 ด้าน

ลักษณะพิเศษของวิหารที่มองเห็นได้เด่นชัดคือตัววิหารสีทอง เป็นผลมาจากตกแต่งของ มหาราขารันยิต ซิงห์ ในปี พ.ศ.2373 โดยการนำแผ่นทองคำมาหุ้มทับส่วนบนของวิหารขึ้นไปจนถึงยอดโดม นอกจากนี้แล้วมหาราชารันยิตยังได้มีการตกแต่งภายในวิหารด้วยงานแกะสลักหินอ่อนที่วิจิตรงดงามอีกด้วย